วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แนวคิดเรื่องความสมดุลของชีวิต

แนวคิดเรื่องความสมดุลของชีวิต เป็นแนวคิดพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้าน การแพทย์แผนไทยหรือที่เคยเรียกกันว่า การแพทย์แผนโบราณนั้นมีหลักการว่า คนมีสุขภาพดีเมื่อร่างกายมีความสมดุลระหว่างธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ คนเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะธาตุขาดความสมดุล จะมีการปรับธาตุ โดยใช้ยาสมุนไพรหรือวิธีการอื่นๆ คนเป็นไข้ตัวร้อน หมอยาพื้นบ้านจะให้ยาเย็นเพื่อลดไข้ เป็นต้น
         การดำเนินชีวิตประจำวันก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้านเชื่อว่าจะต้องรักษาความสมดุลในความสัมพันธ์สามด้าน คือ
         - ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านในชุมชนความสัมพันธ์ที่ดี มีหลักเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้สั่งสอนมา เช่น ลูกควรปฏิบัติอย่างไรกับพ่อแม่ กับญาติพี่น้อง กับผู้สูงอายุ คนเฒ่าคนแก่ กับเพื่อนบ้านพ่อแม่ควรเลี้ยงดูลูกอย่างไร ความเอื้ออาทรต่อกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะในยามทุกข์ยากหรือมีปัญหา ใคร มีความสามารถพิเศษก็ใช้ความสามารถนั้นช่วยเหลือผู้อื่น เช่น บางคนเป็นหมอยา ก็ช่วยดูแลรักษาคนเจ็บป่วยไม่สบายโดยไม่คิดค่ารักษา มีแต่เพียงการยกครูหรือการรำลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสาทวิชามาให้เท่านั้น หมอยาต้องทำมาหากินโดยการทำนาทำไร่ เลี้ยงสัตว์เหมือนกับชาวบ้านอื่นๆ บางคนมีความสามารถพิเศษด้านการทำมาหากิน ก็ช่วยสอนลูกหลานให้มีวิชาไปด้วย
         - ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในครอบครัวในชุมชน มีกฎเกณฑ์เป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามอย่างชัดเจน มีการแสดงออกทางประเพณี พิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การบายศรีสู่ขวัญ เป็นต้น
         - ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผู้คนสมัยก่อนพึ่งพาอาศัยธรรมชาติแทบทุกด้าน ตั้งแต่อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่พัฒนาก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ยังไม่มีระบบการค้าแบบสมัยใหม่ ไม่มีตลาด คนไปจับปลาล่าสัตว์ เพื่อเป็นอาหารไปวันๆ ตัดไม้เพื่อสร้างบ้านและใช้สอยตามความ จำเป็นเท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่อการค้า ชาวบ้านมีหลักเกณฑ์ในการใช้สิ่งของในธรรมชาติ ไม่ตัดไม้อ่อน ทำให้ต้นไม้ในป่าขึ้นแทนต้นที่ถูกตัดไปได้ตลอดเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น