วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บุญบั้งไฟภูไท

บุญบั้งไฟภูไท ความงดงามของบุญบั้งไฟไทย:ประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทยบุญบั้งไฟตะล้านตำบลกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
“จากเมืองบก เมืองวัง แขวงคำม่วน
เคลื่อนขบวน กันมา หาถิ่นใหม่
ถึงคำหว้า ถิ่นอุดม สมดั่งใจ
แดนบั้งไฟ ตะไลล้าน สะท้านเมือง”



เมื่อพูดถึง ภูไท ผู้ไท หรือผู้ไทย หลายคนมักจะนึกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ที่มีภาษาพูด การแต่งกาย และวัฒธรรมประเพณีที่แตกต่างออกไปจากคนอีสานที่มีเชื้อสายลาวซึ่งหลายคนก็คงไม่ได้คิดถึงบุญบั้งไฟมากนัก และเมื่อพูดถึงบุญบั้งไฟหลายคนก็มักจะนึกถึงวัฒนธรรมของชาวลาวอีสาน โดยเฉพาะการจัดงานประเพณีของจังหวัดยโสธร แต่สำหรับวัฒนธรรมผู้ไทยบุญบั้งไฟของชาวตำบลกุดหว้ามีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าพื้นที่อื่น

ในข้อเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนจะขอเล่าถึงความประทับใจจากการเข้าร่วมงานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้านของตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา สำหรับงานบุญบั้งไฟตะไลนั้นผู้เขียนทราบว่ามีพื้นที่ที่จัดงานดังกล่าวที่เด่น ๆ อยู่ 2 แห่ง คือที่ตำบลกุดหว้าซึ่งจะจัดขึ้นในเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ส่วนอีกที่หนึ่งก็คือประเพณีบุญบั้งไฟตะไลของชาวบ้านอ้อ ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี และในปีนี้ยังมีการจัดประเพณีที่ตำบลหนองกุง อำเภอเมือง จ.กาฬสินธุ์ ด้วย ซึ่งก่อนอื่นผู้เขียนขอเท้าความถึงประวัติของหมู่บ้านกุดหว้านี้ก่อน

ประวัติบ้านกุดหว้า
บ้านกุดหว้าเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ก่อตั้งมาประมาณ 150 ปี เดิมมีชื่อว่า “บ้านคำหว้า” ชาวกุดหว้าเป็นชนเผ่าผู้ไทยอพยพมาจากบ้านกระแตบ ตั้งอยู่ระหว่างกลางเมืองบกกับเมืองวัง สปป.ลาว หลังจากศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ในปี 2370 ราชวงศ์เมืองวังก็แตก ปี 2387 ผู้ไทจากเมืองวังจำนวน 3,443 คน ถูกกวาดต้อนมาที่เมืองกุดสิมนารายณ์ (อำเภอกุฉินารายณ์ในปัจจุบัน) เจ้าเมืองวังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์ชื่อ พระธิเบศวงศ์ษา (กอ) เมื่อผู้ก่อตั้งหมู่บ้านนี้คือ นายโฮัง นายโต้น และนายเต้ง ทราบว่าเจ้าเมืองวังมาสร้างบ้านเมืองใหม่ต่างก็พากันมีความยินดีจึงอพยพครอบครัวกว่า 60 คน ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาฝั่งไท (สยาม) ตั้งบ้านเรือนกระจายกันอยู่หลายแห่ง เช่น บังเฮือก บังทรายวังน้ำเย็น ตาด โตน กะเปอะ วังพัน หนองแสง สามพี่น้องได้อยู่ที่บ้านหนองแสง (อำเภอเขาวง) และมีอาชีพล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหารและขาย โดยได้เที่ยวออกล่าเนื้อเป็นประจำ ในเขตเขาภูผาผึ้ง ภูมะตูม ภูผาโง ต่อได้มาเห็นภูมิประเทศบริเวณคำหว้าซึ่งเป็นบริเวณบ้านกุดหว้าปัจจุบันเป็นป่าไม้สูงหนาทึบ มีสัตว์ชุกชุมมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นประเภทน้ำคำ น้ำบ่อ โดยเฉพาะที่คำหว้ามีต้นหว้าใหญ่ขนาดสามคำโอบอยู่ต้นหนึ่ง มีน้ำพุไหลออกจากโคนต้นมิได้ขาด สัตว์หลายชนิดชอบมาอยู่บริเวณนี้มาก มีความอุดมสมบูรณ์ จึงอพยพครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านกุดหว้า ในวันอังคาร ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ปี 2399 เป็นต้นมา บ้านคำหว้าได้เปลี่ยนชื่อเป็นกุดหว้าตามคำสั่งของทางการเมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา ในปี 2532 ได้ยกฐานะเป็นสุขาภิบาล ปี 2542 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาล มีหมู่บ้านในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลจำนวน 6 หมู่ คือ หมู่ที่ 1 2 8 9 11 และ 13

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น