ชีวิตของชาวบ้านในรอบหนึ่งปี จะมีพิธีกรรมอะไรบ้าง

ชีวิตของชาวบ้านในรอบหนึ่งปี จะมีพิธีกรรมอะไรบ้าง
        ชีวิตของชาวบ้านในรอบหนึ่งปีจึงมีพิธีกรรมทุกเดือน เพื่อแสดงออกถึงความเชื่อและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ระหว่างคนกับธรรมชาติ และระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ดังกรณีงานบุญประเพณีของชาวอีสานที่เรียกว่าฮีตสิบสอง คือ
  • เดือนอ้าย (เดือนที่หนึ่ง) บุญเข้ากรรม ให้พระภิกษุเข้าปริวาสกรรม
  • เดือนยี่ (เดือนที่สอง) บุญคูณลาน ให้นำข้าวมากองกันที่ลาน ทำพิธีก่อนนวด
  • เดือนสาม บุญข้าวจี่ ให้ถวายข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นชุบไข่ทาเกลือนำไปย่างไฟ)
  • เดือนสี่ บุญพระเวส ให้ฟังเทศน์มหาชาติ คือ เทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก
  • เดือนห้า บุญสรงน้ำ หรือบุญสงกรานต์ ให้สรงน้ำพระ ผู้เฒ่าผู้แก่
  • เดือนหก บุญบั้งไฟ บูชาพญาแถน ตามความเชื่อเดิม และบุญวิสาขบูชา ตามความเชื่อของชาวพุทธ
  • เดือนเจ็ด บุญซำฮะ (บุญชำระ) ให้บนบานพระภูมิเจ้าที่เลี้ยงผีปู่ตา
  • เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
  • เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
  • เดือนสิบ บุญข้าวสาก ทำบุญเช่นเดือนเก้า รวมให้ผีไม่มีญาติ (ภาคใต้มีพิธีคล้ายกัน คือ งานพิธีเดือนสิบ ทำบุญให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว แบ่งข้าวปลาอาหารส่วนหนึ่งให้แก่ผีไม่มีญาติ พวกเด็กๆ ชอบแย่งกันเอาของที่แบ่งให้ผีไม่มีญาติหรือเปรต เรียกว่า "การชิงเปรต")
  • เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา
  • เดือนสิบสอง บุญกฐิน จัดงานกฐินและลอยกระทง